ฟันธงศักยภาพแนวรถไฟฟ้า 3 สายรุ่ง อสังหาฯคึกคักค้าปลีกโตรับกำลังซื้อ

 

20 January 2016

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 10 สายของรัฐบาล ส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเส้นทางที่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงตามแนวเส้นทางแบบเห็นได้ชัดเจนนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา คือ เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง สีน้ำเงิน แดงเข้ม เขียวเข้ม เขียวอ่อน ซึ่งเป็น 5 เส้นทางที่มีการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เหล่านี้สามารถใช้เป็นข้ออ้างอิงในการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ตามเส้นทางอื่นๆ ได้เช่นกัน ขณะที่อีก 5 เส้นทางที่เหลือนั้นอาจจะมีเพียง 3 เส้นทางเท่านั้นที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัด คือ สายสีส้ม สีชมพู และสีเหลือง

เส้นทางสายสีส้มช่วงตลิ่งชัน– มีนบุรี เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตก จากถนนจรัญสนิทวงศ์มายังมีนบุรี คาดว่าตลอดเส้นทางนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งเส้นทาง โดยเฉพาะพื้นที่รอบๆ สถานีตลิ่งชันที่เป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงที่มีความน่าสนใจ เพราะกทม. ประกาศว่าจะปรับเปลี่ยนสีผังเมืองรอบสถานีให้สอดคล้องกับการพัฒนาในอนาคต ซึ่งจะทำให้มูลค่าและศักยภาพของที่ดินสูงขึ้น สำหรับรอบๆ สถานีจรัญสนิทวงศ์ที่เป็นสถานีเชื่อมต่อกับสายสีน้ำเงินที่จะเปิดให้บริการก่อน มีส่วนช่วยให้พื้นที่รอบๆ สถานีมีการเปลี่ยนแปลงไปก่อนแล้ว รวมทั้งพื้นที่ตามแนวเส้นทางตั้งแต่สถานีประดิษฐ์มนูธรรมไปตามแนวถนนรามคำแหง เนื่องจากผ่านพื้นที่ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจำนวนมากจากกลุ่มนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันมีหอพักและอพาร์ตเมนต์อยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนพื้นที่รอบๆ สถานีปลายทางอย่างมีนบุรีก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนสีผังเมืองให้สอดคล้องกับศักยภาพในอนาคตรวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู จึงมีความน่าสนใจมากกว่าพื้นที่อื่นๆ

เส้นทางสายสีชมพูช่วงแคราย – มีนบุรี เริ่มต้นที่สถานีแครายที่เป็นจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากนั้นไปตามถนนติวานนท์ ถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา พื้นที่ที่น่าจะมีการขยายตัวแบบเด่นชัดที่สุดจะเป็นตามแนวถนนแจ้งวัฒนะที่มีศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต อาคารสำนักงาน และศูนย์ราชการกรุงเทพฯ อยู่แล้ว ส่วนพื้นที่ถนนรามอินทราอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบเห็นได้ชัดในบางพื้นที่เช่น รอบๆ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั้งเซ็นทรัลพลาซ่า รามอินทรา และศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รวมทั้งพื้นที่รอบๆ สถานีมีนบุรีที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม

สายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง เส้นทางรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกรุงเทพฯตอนเหนือกับกรุงเทพฯ ตอนใต้ฝั่งตะวันออก ผ่านถนนสายสำคัญของกรุงเทพฯ ทั้งถนนลาดพร้าว และถนนศรีนครินทร์ โดยพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นค่อนข้างมากคือรอบสถานีลาดพร้าว ที่เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟใต้ดินสายปัจจุบัน รวมทั้งพื้นที่ตลอดแนวถนนลาดพร้าว สำหรับพื้นที่ตามแนวถนนศรีนครินทร์นั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนบริเวณรอบศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั้งซีคอนสแควร์ และพาราไดซ์พาร์ค นอกจากนี้พื้นที่รอบสถานีปลายทางสำโรง ก็มีศักยภาพในการพัฒนา เพราะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน ช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ